เมื่อคืนที่ผ่านมา( 28 มกราคม 2562) เวลา 19.00 น. นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงแบบผ้าและเครื่องแต่งกายนานาชาติ ประจำปี 2562 “อุ่นไอรัก ถักทอสายใย ผ้าไทยสู่สากล” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวรายงาน ร่วมด้วยแขกผู้มีเกียรติ อาทิ Mr.Langpoklakpam Jayantakumar Singh รัฐมนตรีมณีปุระ ประเทศอินเดียและคณะ ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ผู้สนับสนุนในภาคธุรกิจเอกชน เจ้าของภูมิปัญญาไหมทอยีนส์ ตัวแทนนักแสดงนานาชาติจากทั้ง 13 ประเทศ ร่วมงาน
การแสดงแบบผ้าและเครื่องแต่งกายนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562 (3rd SICE : Surin International Cultural Exchange 2019) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงแบบผ้าและชุดแต่งกายประจำชาติของนานาประเทศ อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่เอกลักษณ์ และยกระดับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกายท้องถิ่นสู่ระดับสากล โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อุ่นไอรัก ถักทอสายใย ผ้าไทยสู่สากล” มีการนำเสนอแบบผ้าและเครื่องแต่งกาย โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ผู้สนับสนุนในภาคธุรกิจเอกชน เจ้าของภูมิปัญญาไหมทอยีนส์ ตัวแทนนักแสดงนานาชาติจาก 13 ประเทศ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมเดินแสดงแบบผ้าและเครื่องแต่งกายนานาชาติ
ซึ่งจะรังสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมการแต่งกาย ทั้งหมด 5 ชุดการแสดง ดังนี้
ชุดที่ 1 “กิตติมศักดิ์ อนุรักษ์ผ้าไทย” โดยนายแบบ-นางแบบกิตติมศักดิ์
ชุดที่ 2 “ร้อยสี พันลาย สายใยนานาชาติ” โดยนายแบบ-นางแบบ นักแสดงนานาชาติ
ชุดที่ 3 “อุ่นไอรัก ถักทอสายใย ผ้าไทยสู่สากล” โดยนายแบบ-นางแบบ นักแสดงนานาชาติ
ชุดที่ 4 “หนึ่งเดียวในไทย ใยไหม ทอยีนส์” โดย ร้านเรือนไหมใบหม่อน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
ชุดที่ 5 “FINALE” รวมขบวนนายแบบ-นางแบบทุกชุด
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ดำเนินการจัดงานการแสดงแบบผ้าและเครื่องแต่งกายนานาชาติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี เป็นเวทีในการนำเสนอผ้าพื้นเมืองและเครื่องแต่งกายแบบไทยผสมผสานกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมการแต่งกายจากนานาอารยะประเทศ นับว่าเป็นการพัฒนาศาสตร์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาของชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ เป็นโอกาสอันดีในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และเพื่อส่งเสริม ทำนุบำรุง สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ก่อให้เกิดการอนุรักษ์เอกลักษณ์อันโดดเด่นในเรื่องผ้าไทย และผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ให้สืบทอดต่อไป
การแสดงแบบผ้าและเครื่องแต่งกายนานาชาติ ประจำปี 2562 (28 ม.ค.2562)
พา จอกทองก.พ. 01, 2019ประชาสัมพันธ์0
Previous Postการประชาพิจารณ์เพื่อเพิ่มเติมแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับสภาคณาจารย์ (13 ก.พ.2562)
Next Post📌กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ (International Caltural Workshop)📌 26/01/2019
Related articles
WordPress spam blocked by CleanTalk.